ระบบน้ำในอาคารสูง

ในอาคารสูงทั่วๆไป มักจะมีถังเก็บน้าบนชั้นดาดฟ้า หรือเกือบสูงสุดของอาคาร ทำหน้าที่จ่ายน้ำลงมายังชั้นล่างๆ โดยอาศัยแรงดึงดูดของโลกทำให้น้ำที่ไหลลงมีแรงดันเพิ่มขึ้นตามระดับความสูงของอาคารนั้นๆ ชั้นล่างสุดแรงดันน้ำจะสูงกว่าชั้นบนที่อยู่ติดกับถังเก็บน้ำ ดังนั้นในกรณีที่ต้องการให้ชั้นบนมีแรงดันน้ำเพิ่มขึ้นจึงต้องอาศัยปั้มน้ำเข้ามาช่วยเสริมแรงดัน หรือที่เรียกว่าบูสเตอร์ปั้ม ส่วนชั้นล่างสุดหากมีแรงดันน้ำที่สูงเกินไป ก็จะต้องน้ำวาล์วลดแรงดันเข้ามาช่วย เพื่อไม่ให้แรงดันน้ำสูงเกินไปจนใช้งานลำบากหรือป้องกันท่อส่งน้ำแตก

โดยทั่วไปแล้วระบบน้ำในอาคารสูงจะค่อนข้างเหมือนกัน โดยแบ่งเป็นรายการดังนี้

– ถังเก็บน้ำใต้ดิน หรือบ่อพักน้ำ

– ถังเก็บน้ำบนดาดฟ้า

– ปั้มน้ำที่สูบจ่ายน้ำขึ้นถังเก็บบนดาดฟ้า (Transfer pump)

– ปั้มน้ำเสริมแรงดัน (Booster pump) ทำหน้าที่จ่ายน้ำเข้าสู่อาคารและสุขภัณฑ์ต่างๆ

 

เริ่มต้นจากการเปิดรับน้ำสู่ถังเก็บน้ำใต้ที่ควบคุมการเปิด/ปิดวาล์วทั่วๆ ไปด้วยลูกลอย (Float Valve) เมื่อระดับน้ำต่ำกว่าที่กำหนดลูกลอยจะตกลงมา ทำให้วาล์วเปิดและน้ำจากการประปะจะไหลลงสู่บ่อพักน้ำ จนระดับน้ำเพิ่มขึ้นเรื่่อยๆ ทำให้ลูกลอย ลอยสูงขึ้นและปิดวาล์วเอาไว้ ไม่ให้น้ำล้นบ่อพักน้ำ

 

หลังจากนั้นจะเป็นหน้าที่ของทรานส์เฟอร์ปั้ม ทำหน้าที่สูบน้ำจากบ่อพักขึ้นสู่ถังเก็บด้านบน โดยมีระบบควบคุมอัตโนมัติคอยสั่งการ ตัวอย่างเช่น เมื่อมีการใช้น้ำจนถังเก็บบนดาดฟ้ามีระดับน้ำที่ต่ำลงมาถึงจุดกำหนด ตู้ควบคุมจะสั่งให้ปั้มน้ำทำงานสูบน้ำขึ้นสู่ถังเก็บจนได้ระดับที่ต้องการแล้วจึงหยุดปั้ม โดยอาศัยสัญญาณจากลูกลอย (Float switch) หรือ ก้านอิเลคโทรด (Floatless switch) เป็นตัวควบคุม

 

ในส่วนของบูสเตอร์ปั้มที่ทำหน้าที่จ่ายน้ำให้แก่ชั้นบนที่มีแรงดันน้ำไม่เพียงพอ จะรับน้ำจากถังเก็บน้ำบนดาดฟ้าดูดเข้าระบบผ่านถังแรงดัน (Diaphragm Tank) และส่งจ่ายเข้าสู่ระบบ โดยจะมีการตั้งค่าแรงดันน้ำที่ต้องการใช้งาน โดยอาศัยสวิตช์แรงดัน (Pressure switch)  เป็นตัวควบคุมอัตโนมัติ เมื่อแรงดันน้ำตกลงมาต่ำกว่าจุดที่กำหนดตู้ควบคุมจะสั่งให้ปั้มทำงานสูบน้ำจ่ายเข้าสู่ระบบจนแรงดันเพิ่มขึ้นถึงจุดที่กำหนดจึงสั่งหยุดการทำงาน